หน้าเว็บ

แนวคิดเชิงระบบ (The System Approach)

โดยทั่วไปเราจะรู้จักคุ้นเคยกับคำว่า  “ระบบ”  หรือคำในภาษาอังกฤษว่า  “System”  พอสมควรในทางวิทยาศาสตร์เราจะพูดถึงระบบสุริยะจักรวาล  ระบบโมเลกุลในร่างกายมนุษย์  เรามีระบบหมุนเวียนของ  โลหิต  ระบบประสาท  ระบบการขับถ่ายของเสียในร่างกายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน  เราคุ้นเคยกับคำว่า  ระบบการศึกษา  ระบบโรงเรียนและระบบการเรียนการสอน  เป็นต้น (สงัด  อุทรานันท์ . 2533 : 1 – 10)
                คำว่า  “ระบบ”  ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดก็ตาม  จะหมายถึงสิ่งต่างๆที่รวมกัน  ซึ่งแสดงถึงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบนั้นๆ  อย่างชัดเจน  องค์ประกอบของระบบแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  ดังต่อไปนี้ (ปฐม  นิคมานนท์ . 2529 : 33 – 34)
 1)  องค์ประกอบในระบบ                 ประกอบด้วยส่วนสำคัญ  3  ส่วน  ดังนี้
                1.1)  ปัจจัยนำเข้า  (Input)  อาจได้แก่วัสดุ  อุปกรณ์  วัตถุดิบ  แรงงาน  เงินทุน  ทรัพยากรต่างๆ  รวมไปถึงเวลาและสถานที่
                1.2)  กระบวนการ  (Process)  ได้แก่  เทคนิควิธี  ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ  ตั้งแต่ต้นจนจบ
                1.3)  ผลที่ได้รับหรือผลผลิต  (Output)  เป็นผลที่ได้รับจากปัจจัยนำเข้าและกระบวนการทั้งหมด  ผลผลิตเป็นสิ่งที่ต้องการในขั้นสุดท้ายของระบบ  ผลผลิตอาจเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  หรือหลายๆอย่างรวมกัน  เช่น  ในกระบวนการผลิตสินค้า  ก็อาจหมายถึงการเพิ่มคุณภาพ  การเพิ่มจำนวน  การยืดอายุผลผลิต  การเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์  การลดต้นทุน  การผลิต  การลดต้นทุนการขนส่ง  ลดอุบัติเหตุ  หรือการเปลี่ยนแปลงในด้านดี  อื่นๆ  เป็นต้น
                ในระบบจะต้องมีการตรวจสอบอยู่ทุกขั้นตอน  เรียกว่า  Feedback  หรือข้อมูลย้อนกลับ  ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ว่าแต่ละขั้นตอนดี  หรือไม่ดีเพียงใด  อย่างใด  ตัวอย่างเช่น  ในกรรมวิธีการผลิต  ถ้าในด้านปัจจัยนำเข้าหรือ  Input  ต้องมีการตรวจสอบดูว่าวัตถุดิบที่ใช้  มีคุณภาพตรงตามความต้องการหรือไม่  อาจรวมไปถึงกรรมวิธีในการสั่งซื้อวัตถุดิบ  การเก็บรักษา  การขนส่ง  เป็นต้น  ในด้านกระบวนการผลิตอาจจะต้องตรวจสอบดูสูตรการผลิต  การทำงานของเครื่องจักร  การแบ่งหน้าที่ทำงาน  การมอบหมายความรับผิดชอบ  วิธีสั่งการ  การควบคุม  การรายงานเป็นต้น  สำหรับด้านผลผลิตนั้นต้องตรวจสอบดูว่าผลผลิตที่ได้  มีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการหรือไม่  ตรงกับความต้องการของตลาดแล้วหรือยัง  ยังมีส่วนจะต้องปรับปรุง  พัฒนาขึ้นอย่างไร  ดังนี้เป็นต้น 
2)  องค์ประกอบที่อยู่นอกระบบ               โดยทั่วไปมักมีองค์ประกอบอื่นที่อยู่นอกระบบ  ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบที่สำคัญ  3  ประการ  ดังนี้
              2.1) ทรัพยากร  ได้แก่  ปัจจัยด้านมนุษย์  เงิน  วัสดุ  ทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น
              2.2) ความคาดหวัง  ได้แก่  ความคาดหวังของผู้ผลิต  ของลูกค้า  พ่อค้า  รัฐบาล  ชุมชน  ตลอดจนประชาชนทั่วไป
              2.3) สภาพแวดล้อม  เช่น  ภาวะการตลาด  ภาวะเศรษฐกิจ  เทคโนโลยี  การปกครอง  การเมือง  และสังคม  เป็นต้น   
ความสำคัญของการนำแนวคิดเชิงระบบไปใช้ในการปฏิบัติงาน
                1)  แนวคิดเชิงระบบเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถกำหนดกรอบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถมองเห็น  กระบวนการทำงานทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ
                2)  ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม  เนื่องจากสามารถสื่อสารกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนกับทีมงาน  ได้กระจ่างชัด  ซึ่งทำให้สามารถอธิบาย  หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆในมุมมองที่กว้าง
                3)  ทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น  หรือสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่  ความผิดพลาดต่างๆที่เกิดจากระบบ  จะทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและหาวิธีแก้ไขได้ถูกต้องทันท่วงที  ซึ่งเป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและระยาว
                 4)  ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  คือ  มีความถูกต้อง  ประหยัดค่าใช้จ่าย  ทันตามเวลาที่กำหนดและสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น